top of page

คุณคือใคร! แนะนำตัวให้เขาจดจำคุณได้ ภายในเวลา 30 วินาที


สมมติว่าเกิดเหตุนี้ในลิฟท์ชั้นสูงสุดของโรงแรมห้าดาวที่คุณมาเข้าร่วมสัมมนา ช่วงพักเที่ยง คุณกดลิฟท์ลงไปหยิบของที่รถ นักธุรกิจชื่อดังก้าวเข้ามายืนข้างๆ

ลิฟท์เปิดออก คุณทั้งสองก้าวเข้าไป เขาหันมายิ้มให้คุณอย่างเป็นกันเอง คุณจึงตัดสินใจทักทายเขาและแนะนำตัว เขาเอ่ยถามคุณขึ้นมาอย่างสนใจ “ไม่ทราบว่างานของคุณเกี่ยวกับอะไรหรือครับ”

คำถามอยู่ที่ชั้น 24 ปลายทางอยู่ที่ชั้น B1 คุณมีเวลาให้คำตอบเขาชั่วลิฟท์เคลื่อนลง 25 ชั้น คุณจะอธิบายตัวคุณหรือธุรกิจของคุณอย่างไร โดยไม่เพียงให้ชาย (ผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าคุณในอนาคต) คนนี้เข้าใจในสิ่งที่คุณทำ แต่เขาต้องจดจำคุณได้ด้วย คุณจะเลือกอธิบายตัวคุณแบบไหนให้ “แจ่มแจ้งและดึงดูดใจ” ก่อนที่ลิฟท์จะเดิน ทางสู่จุดหมายในเวลา 30 วินาที

ถ้าเป็นสมัยก่อน เอมคงอธิบายตัวเธอง่ายๆ ว่า “ฉันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกงานอีเว้นท์ของบริษัท ABC ค่ะ” แต่วันนี้ไม่ใช่ ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าตอบออกไปแค่นั้น เอมคงไม่ต่างอะไรกับใครอีกหลายคนที่ตอบเขามาแล้วในงานสัมมนา ในแวดวงอาชีพของเอม มีเพื่อนร่วมวงการมากมายที่เสียโอกาสที่ควรได้ เพราะไม่อาจดึงดูดใจลูกค้าให้ทันในเวลาสั้นๆ ที่แสนมีค่า

“จากประสบการณ์ เราต้องเจอลูกค้ามากหน้าหลายตาที่ให้โอกาสเรา อธิบายสิ่งที่เราทำแค่เวลาสั้นๆ ซึ่งถ้าคุณอธิบายมันเหมือนที่คนอื่นอธิบายลูกค้าจะแยกคุณออกมาไม่ได้จากคนอื่นๆ”

ภายใน 30 วินาทีอันมีค่า เอมต้องทิ้งร่องรอยความจดจำให้กับคนที่เธอได้พบเจอ ให้เขาได้รับรู้สิ่งที่เธอเป็นและสิ่งที่เธอทำ ผ่านถ้อยคำเพียงไม่กี่ประโยค

เพราะเมื่อผู้คนรู้จัก จดจำ และรู้สึกดี นั่นหมายถึงโอกาสที่เขาจะยอมลงทุนว่าจ้างตัวเธอ บริการของเธอ โครงการของเธอ ผลิตภัณฑ์ของเธอ

“งานของฉันที่บริษัท ABC คือการใช้ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาด ช่วยลูกค้าของฉันสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่งในธุรกิจ ผ่านรูปแบบการจัดงานอีเว้นท์ค่ะ”

นี่คือถ้อยแถลง 30 วินาทีของเอม ซึ่ง “เลือกใช้คำที่เรียกร้องความสนใจและทิ้งร่องรอยความประทับใจไว้ก่อนที่คุณจะออกจากลิฟท์” ตามคำแนะนำของ คาร์ล ดี สปีค ในหนังสือ “Be Your Own Brand” ประโยคที่เอมพูดถึงตัวเธอ จะพูดกับคนพันคนหรือคนในลิฟท์แค่คนเดียวก็ตาม เธอกำลังสื่อสารให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของ “แบรนด์” เธอ “แบรนด์” ที่มีผู้จัดการและพรีเซนเตอร์เป็นคนเดียวกัน คือตัวเธอเอง

“ไม่ว่าจะอายุแค่ไหน ยืนอยู่ตรงไหน อยู่ในธุรกิจใด เราทุกคนต่างเป็นซีอีโอของบริษัทเราเอง ชื่อบริษัทตัวฉันจำกัด และงานที่สำคัญที่สุดที่เราต้องทำคือ เป็นผู้จัดการแบรนด์ให้ตัวเราเอง” นั่นคือคำพูดของ ทอม ปีเตอร์ส ในบทความลือลั่น “The Brand Called You” ที่ปลุกคำว่า “แบรนด์ส่วนบุคคล” ขึ้นมาสู่ความสนใจครั้งแรกในปี 1997

คุณคงเริ่มสงสัย องค์กรใหญ่ปั้น “แบรนด์” เพื่อขายสินค้านั้นก็พอเข้าใจ แต่ทำไมคนธรรมดาต้องมี “แบรนด์”

แดน ชอว์เบล กูรูด้านการสร้าง “แบรนด์ส่วนบุคคล” ผู้เขียนหนังสือดัง “Me 2.0 : Build a Powerful Brand to Achieve Career Success” ตอบเรื่องนี้แบบง่ายๆ ว่า “เพราะถ้าคุณไม่มี คนอื่นเขาพร้อมที่จะมี”

ในทัศนะของแดน เราทุกคนต่างถูก “แบรนด์” โดยคนรอบข้างอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แบรนด์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา “หน้าที่ของเราคือทำความเข้าใจว่าเราคือใคร เราทำอะไร และเราทำเพื่อใคร เพื่อที่เราจะได้หลอมรวมการรับรู้เหล่านี้แล้วสร้าง “แบรนด์เรา” ขึ้นมาให้ตรงกับที่เราอยากให้เป็น”

การสร้าง “แบรนด์เรา” ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างความประทับใจแรกพบ แต่มันสำคัญมากๆ ที่คุณจะควบคุมมันให้ได้ เพื่อที่คุณจะนำมันไปสู่ทิศทางที่คุณคาดหวัง

“การสร้างแบรนด์ตัวคุณจะช่วยให้คุณค้นพบสิ่งที่คุณมุ่งมั่นปรารถนา ทำให้ชีวิตคุณมีความหมาย และทำให้คุณประสบความสำเร็จง่ายขึ้นในตลาดเป้าหมายของคุณ”

ปรัชญาของการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า เราทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญส่วนตัว และเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายในชีวิต

เมื่อใดที่เราสามารถเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญส่วนตัวกับเป้าหมายในชีวิตไว้ด้วยกันได้นั่นล่ะคือการค้นพบ “แบรนด์” ของเรา

ถึงเวลาที่คุณต้องเลิกมองตัวเองเป็นแค่ “ลูกน้อง” ถึงแม้คุณจะมี “เจ้านาย” เลิกมองตัวเองเป็น “ฟรีแลนซ์ทั่วไป” ที่มีฝีมือ “พอใช้ได้” ในสาขาของคุณ คุณต้องพลิกมุมมองตัวเองใหม่ มองตัวเองให้เหมือนกับนักการตลาดมอง โปรเจ็คท์ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจนประสบความสำเร็จ ไม่เพียงต้องเข้าใจตลาดเป้าหมาย แต่คุณยังต้องตรวจสอบจุดดีจุดด้อยของตัวเองทุกแง่มุม อะไรที่คุณแข่งขันกับเขาได้ อะไรที่จะทำให้คุณพิชิตใจผู้ซื้อ

คุณต้องพุ่งความสนใจในคุณลักษณะที่แตกต่างของคุณ ทักษะของคุณ ความสามารถของคุณ จนถึงบุคลิกภาพในตัวคุณ จนกว่าจะเจอจุดแข็งที่ใช่

ข่าวดี! ในขั้นตอนการค้นหา “แบรนด์” ตัวคุณนี้ คุณจะได้รู้จักตัวคุณเอง อย่างลึกซึ้ง คุณจะได้เข้าใจคุณสมบัติอันน่าทึ่งที่คุณไม่เคยเล็งเห็นในตัวเอง มาก่อน และแน่นอนจุดอ่อนที่คุณต้องกำจัดด้วย จงคิดและปฏิบัติต่อตัวเองเฉกเช่นเดียวกับนักการตลาดปฏิบัติต่อสินค้าใหม่ เพราะนี่คือโปรดัคท์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคุณ---ตัวคุณเอง!

(บทที่ 3 ค้นหาแบรนด์ของคุณให้เจอ : ดังสักนิดชีวิตรุ่ง)

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Classic
  • Twitter Classic
  • Google Classic
bottom of page